วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สพฐ. ส่งหนังสือแจ้งเขตพื้นที่ฯ ทำความเข้าใจทรงผมนักเรียน



สพฐ. ส่งหนังสือแจ้งเขตพื้นที่ฯ ทำความเข้าใจทรงผมนักเรียน พร้อมย้ำระหว่างนี้ให้ยึดตามกฎกระทรวงปี 2518 เป็นหลัก โดยให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรง ขณะที่นักเรียนหญิงได้ยาว แต่ต้องรวบ

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้กล่าวถึงกรณีที่ กระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. เตรียมร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียนนักศึกษาใหม่ว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึษามัธยมศึกษาทุกเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนในเรื่องการซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน โดยขอให้สถานศึกษาปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน ดังนี้

1. นักเรียนชาย ให้ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ หากไว้ผมยาว ด้านข้างและด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม เช่น แบบรองทรง
2. นักเรียนหญิง ให้ไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวต้องรวบให้เรียบร้อย

ทั้งนี้ หากร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียนนักศึกษาฉบับใหม่ประกาศใช้ สพฐ. จะแจ้งไปยังสถานศึกษาทราบอีกครั้ง ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่ไม่ต่างจากกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2518 แต่จะเพิ่มเติมรายละเอียดข้อห้ามให้เหมาะสมกับยุคสมัย


คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ...โทษใครดี ?

คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ...โทษใครดี ?
ข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2555 เวลา 00:00 น.


“จากการประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศกลุ่มอาเซียน ในงานเวิลด์อีคอนอมิกฟอร์ม หรือ WEF ที่เจนีวา พบว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย อยู่ลำดับที่ 6 ตามหลัง สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา อยู่ลำดับที่ 8 ตามหลังฟิลิปปินส์และ กัมพูชา เพิ่มอีก” และ “จากการวิจัยถึงแนวโน้มการจัดการศึกษา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติ ปี 2554 ที่จัดโดย The International Associationfor the Evaluation of Educational Achievement (IEA) พบว่า ชั้น ม.2วิชาคณิตศาสตร์ อยู่ในลำดับที่ 28 และวิทยาศาสตร์ อยู่ลำดับที่ 25 จาก 45 ประเทศ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มระดับแย่ ชั้น ป.4 วิชาคณิตศาสตร์ อยู่ลำดับที่ 34 วิทยาศาสตร์ อยู่ลำดับที่ 29 จาก 52 ประเทศ โดยคณิตศาสตร์จัดอยู่ในระดับแย่ (poor) วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับพอใช้ (fair)” รวมถึง “ผลการสอบ O–NET ปี 2554 คะแนนเฉลี่ยต่ำทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ป.6 คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 38 ม.6 คะแนนเฉลี่ยแค่ร้อยละ 21” เท่านั้น

จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาดังกล่าวคงไม่ต้องบอกว่าการจัดศึกษาของไทยพัฒนาขึ้นหรือถอยหลังลง ขนาดเปรียบเทียบแค่กับกลุ่มประเทศอาเซียนที่เราเคยเป็นพี่เบิ้มเขามาแท้ ๆ เดี๋ยวนี้ต้องมาเดินตามหลังเขาไปแล้ว นี่หากรวมถึงคุณภาพที่ต้องการให้เกิดตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 “เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ดี มีความสุข” และเกิดสมรรถนะ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ด้วยแล้ว ก็คงต้องยอมรับว่าอยู่ในอาการหนักจริง ๆ ซึ่งการที่คุณภาพเด็กไทยตกต่ำเช่นนี้น่าจะสวนทางกับเงินที่ถูกใช้ไปแต่ละปีที่สูงเป็นอันดับหนึ่งแถมครูก็มีวุฒิการศึกษาสูงจบปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ จึงเป็นที่กังขาว่าต้นเหตุปัญหานี้มาจากส่วนไหนกันแน่หรือหากจะกล่าวโทษน่าจะโทษใครกันดี
โทษรัฐบาลดีไหม? ที่ทุกรัฐบาลผ่านมามักจะบอกว่าให้ความสำคัญกับคุณภาพบุคลากรของชาติ แต่นโยบายและวิธีการใช้การศึกษาพัฒนาคนในชาติยังทำได้แค่เปลือกนอกเพราะต้องการเห็นผลสำเร็จเร็วเพื่อการหาเสียงการจัดซื้อ จัดหาครุภัณฑ์ จึงเกิดขึ้นมากกว่าวิธีการที่จะพัฒนาถึงตัวเด็กหรือดำเนินการตามแผนการศึกษาชาติที่กำหนดไว้ ทำให้การจัดการศึกษาที่ผ่านมาไร้ทิศทาง ขาดความต่อเนื่องเพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายก็เปลี่ยนไม่ยอมรับแนวทางที่รัฐบาลเก่าทำมาเป็นเช่นนี้ตลอดมา...ใช่หรือไม่?

โทษรัฐมนตรีที่ดูแลการศึกษาดีไหม? ที่มีการเปลี่ยนตัวบ่อยครั้งเกินไปและนโยบายรัฐมนตรีแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเมื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเกิดขึ้นงานใหม่ถูกเข้ามาแทนที่งานเก่า ที่สำคัญรัฐมนตรีบางคนก็หวังสร้างชื่อให้ติดตลาดผลงานที่ดำเนินการจึงเป็นแค่กิจกรรมย่อยมากกว่าที่จะดูแลนโยบายสำคัญให้เกิดผล เมื่องานเปลี่ยนใหม่อยู่เรื่อยครูต้องทำงานหนักแต่ผลเกิดกับผู้เรียนกลับน้อย.. ใช่หรือไม่?

โทษหน่วยเหนือดีไหม? ที่ไปคิดงานคิดกิจกรรมต่าง ๆ แทนภาคปฏิบัติ จนเกิดสารพัดงานที่โรงเรียนต้องดำเนินการ ทั้งที่สิ่งคิดไปให้นั้นสอดคล้องกับบริบทการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กแต่ละพื้นที่หรือไม่ เมื่อครูมีงานอื่นให้ทำมากจนกลายเป็นงานหลัก งานสอนจึงกลายเป็นงานรอง โดยเฉพาะปัญหาครูขาดแคลนครูที่เกิดขึ้นจำนวนมากก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แล้วต้องการคุณภาพมาก ๆ เป็นไปได้หรือไม่ ... ใช่หรือไม่?

โทษหลักสูตรการศึกษาดีไหม? ที่ยังยึดอยู่กับกรอบ กฎเกณฑ์ ระเบียบในการจัดทำ มากกว่าที่จะเน้นให้นำไปใช้กับการสอน ทำให้หลักสูตรของโรงเรียนส่วนใหญ่ จึงมีไว้เพื่อรองรับการตรวจสอบจากหน่วยงานต่าง ๆมากกว่า และยิ่งหลักสูตรปัจจุบันกำหนดให้เรียนสาระมากมายแบบครอบจักรวาลตั้งแต่ ป.1–ม.6 ทำให้เด็กต้องแบกหนังสือหลังแอ่นทุกวัน เมื่อสาระเรียนรู้มีมากเวลาแต่ละวันจึงเต็มไปด้วยตารางสอนของครูและพ่วงท้ายด้วยการบ้านของแต่ละวิชา ทำให้เด็กไม่มีเวลาได้เล่นหรือทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่กำหนดไว้รวมถึงการวัดประเมินผลที่ใช่ระบบตกซ่อมได้ทำให้เด็กขาดความใส่ใจและรับผิดชอบการเรียนรู้...ใช่หรือไม่?

โทษผู้บริหารสถานศึกษาดีไหม? ที่ส่วนใหญ่ยังมุ่งพัฒนาด้านกายภาพมากกว่าคุณภาพผู้เรียน ทำให้ความสนใจด้านวิชาการและ นิเทศการสอนของครู จึงเกิดขึ้นน้อย ยิ่งมีการโยกย้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การทำงานแบบฉาบฉวยเพื่อรอโอกาสก้าวไปสู่โรงเรียนขนาดใหญ่กว่า ด้วยการบังคับให้ครูสร้างผลสำเร็จสนองนโยบายให้ได้โดยไม่ร่วมรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับครูและเด็กทำให้การคิดแก้ปัญหาและพัฒนาโรงเรียนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องไม่เกิดขึ้น...ใช่หรือไม่?

โทษครูดีไหม? ที่ครูจำนวนไม่น้อยยังไม่ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน ยังสอนเนื้อหาตามตำรา หรือสอนตามประสบการณ์เดิม ขาดเทคนิคการพัฒนาเด็กที่ความแตกต่างด้านศักยภาพเป็นรายบุคคล ขาดสื่อหรือนวัตกรรมที่จะช่วยให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้คนเก่งมาเรียนครู ครูส่วนหนึ่งสร้างงานเพื่อหวังผลแค่การขอเลื่อนวิทยฐานะมากกว่าหวังผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ครูส่วนหนึ่งขาดจิตวิญญาณ ทำงานไปวัน ๆ และมีครูอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังทำตัวเป็นเหลือบหากินกับเด็กด้วยการสอนกั๊กความรู้เพื่อนำไปใช้สอนพิเศษแลกกับรายได้ของตนเอง...ใช่หรือไม่?

โทษพ่อ แม่ ผู้ปกครองดีไหม? ที่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำมาหากิน มากกว่าที่จะใส่ใจอบรมเลี้ยงดูลูกหลานให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามกับอยากให้ลูกหลานได้เข้าเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหรือมหาวิทยาลัยดัง จึงมุ่งอยู่กับการเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสอบเข้าเรียนต่อ ไม่ใส่ใจกับกิจกรรมการพัฒนาคุณลักษณะประสงค์ด้านอื่นหรือไม่ก็ส่งเสริมลูกไปตามกระแสสังคมด้านการแต่งกาย ความสวยงาม อยากให้เป็นดารา นักร้อง ฯลฯ โดยไม่ใส่ใจคุณภาพชีวิตด้านวิชาชีพ วิชาชีวิต ...ใช่หรือไม่?

โทษสังคมภายนอกดีไหม? ที่นำอบายมุขต่าง ๆ เข้ามาล่อให้เด็กตกหลุมพรางหวังเพียงประโยชน์ของตนเอง ส่วนผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นบุคคลสาธารณะส่วนหนึ่งก็ไม่สามารถเป็นต้นแบบให้เด็กปฏิบัติตามในทางสร้างสรรค์ได้รวมถึงสื่อสารมวลชนที่มักจะนำแต่ภาพความโหดร้าย ความขัดแย้งรุนแรงในทุกภาคส่วนมาเสนอซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนต้องการตอกย้ำให้เด็กได้จดจำซึ่งส่วนนี้น่าจะรวมถึงละครที่ส่วนใหญ่มักจะนำเรื่องราวความแตกแยกของครอบครัว การแข่งขันชิงดีชิงเด่นถึงความร่ำรวย การแย่งชิงผู้ชาย ส่วนนี้แม้จะบอกว่าเป็นการแสดงแต่กับการที่เด็กต้องดูทุกวัน การแทรกซึมเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ ...ใช่หรือไม่?

โทษหน่วยงานภายนอกดีไหม? ที่ไปใช้อำนาจชี้ถูก ชี้ผิดกับวิธีการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากไปไม่ว่าจะเป็น สมศ. ที่มีหน้าที่ประเมินคุณภาพที่จะนำจุดด้อยมาให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพัฒนา แต่การใช้เกณฑ์เป็นไม้บรรทัดเดียวกันทั้งที่บริบทโรงเรียนแต่ละพื้นที่ต่างกัน และการประเมินจากกรรมการ 3 คน ดูแค่ 3 วัน แล้วมาชี้เป็นชี้ตายคุณภาพโรงเรียนแทนครู ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษาได้เลยนั้นถูกต้องหรือไม่ และการประเมินได้เพิ่มภาระงานด้านเอกสารจนครูหมดแรงหมดเวลาสอนไปด้วย หรือ การสอบ O-NET ที่ให้ใช้ผลมาเกี่ยวข้องกับการประเมินของ สมศ. การประเมินวิทยฐานะของครู หรือแม้แต่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน จึงเกิดข้อข้องใจว่าข้อสอบแต่ละวิชาที่มีไม่กี่ข้อ สามารถชี้คุณภาพเด็กได้ทั้งหมดเลยใช่หรือไม่ เมื่อเด็กในแต่ละพื้นที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตแตกต่างกัน เมื่อนโยบายออกไปพลอยทำให้การจัดการเรียนการสอนของครูจำนวนหนึ่งหลงทางมุ่งสอนแต่เนื้อหาหรือไม่ก็สอนข้อสอบ O–NET ไปเลยเพื่อหวังให้ผลคะแนนการสอบสูงขึ้นตามนโยบาย จนลืมพัฒนาคุณภาพชีวิต เก่ง ดี มีความสุข ไปหมดแล้ว...ใช่หรือไม่

โทษการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านดีไหม? ที่ไปลอกรูปแบบฝรั่งเขามาใช้ทั้งหมดโดยไม่ดูความพร้อมของเราเอง ผลก็คือ กรมและหน่วยงานที่จัดการศึกษาสอดคล้องกับบริบทและอยู่ใกล้ชิดกับภาคปฏิบัติถูกยุบ และที่หวังว่าหน่วยเหนือที่ใหญ่ขึ้นจะทำหน้าที่แค่กำหนดนโยบาย ติดตามกำกับ ประเมินผล และให้เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนดำเนินงานแทน นั้นสุดท้ายหน่วยเหนือก็ยังไม่ยอมคายงานแถมคิดกิจกรรมเพิ่มเข้าไปอีกเขตพื้นที่การศึกษาจึงเป็นแค่ไปรษณีย์คอยรับและส่งงาน โรงเรียนกลายเป็นผู้ปฏิบัติสนองความต้องการเจ้าหน้าที่หน่วยเหนือมากกว่าสนองความต้องการของเด็ก...ใช่หรือไม่? โทษเด็กดีไหม? ที่เด็กยุคปัจจุบันขาดความรับผิดชอบไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ขาดนิสัยรักการทำงาน ฯลฯ

จริง ๆ แล้วน่าจะมีอีกหลายฝ่ายที่น่าจะต้องถูกกล่าวโทษจากปัญหาคุณภาพการศึกษาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยแต่ด้วยข้อจำกัดเนื้อที่จึงนำเสนอมาเป็นตัวอย่างเพียงเท่านี้และก็เห็นว่าการที่จะไปกล่าวโทษกันไปมาก็คงไม่ได้ทำให้คุณภาพการศึกษาของชาติดีขึ้น ทางที่ดีทุกฝ่ายควรยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นแล้วหาทางแก้ไขและพัฒนาความรับผิดชอบของตนเองให้ดีที่สุดเพื่อให้การทำงานสอดคล้องกันเพราะการศึกษาไทยยามนี้หากเป็นรถยนต์ก็เครื่องรวนไปหมดแล้ว จะทำได้อย่างเดียวคือต้องยกเครื่องใหม่ การที่จะทำให้คุณภาพเด็กไทยกลับมายิ่งใหญ่ในอาเซียนหรือก้าวเข้าสู่สากลคงต้องแก้ไขกันทั้งระบบอย่างที่ว่าและวิธีแก้ปัญหาก็น่าจะหมดยุคการมีแต่หลักการเขียนไว้สวยหรูเท่านั้นแต่ทุกอย่างต้องพัฒนาถึงตัวเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ผลถึงจะเกิดขึ้นได้นั่นเอง นะครับ.

กลิ่น สระทองเนียม

ข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2555

วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยุบ.......

ฟันธงยุบ สมศ. - สทศ. ภายใน 2 ปี
คมชัดลึก ฉบับวันที่ 15 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)

นักวิชาการฟันธงต้องยุบสมศ.-สทศ.ภายใน 2-3 ปี ชี้ประเมิน 13 ปีล้วนมาจากข้อมูลเท็จ ผู้ประเมินไม่ได้ตรวจสอบคุณภาพโรงเรียนจริงๆ ฝากย้อนดู ยอมรับตัวเองควรยุติบทบาท แนะให้ชุมชนทำหน้าที่ประเมินแทน
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะ ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วย อย่างมากกับการเสนอให้ปิดสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพราะ 13 ปีที่ผ่านมา สมศ. และสทศ.เองไม่ได้ช่วยให้ระบบการศึกษาดีขึ้น แถมเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ผลการประเมินที่ได้ก็ไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยเฉพาะ สมศ.ที่ควรเปิดประเมินตัวเอง โดยให้ผู้อื่น เช่น ครู โรงเรียน มาประเมินคุณภาพของ สมศ.บ้าง และแสดงความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาว่าไม่เกิน 3 ปี จะปิดตัวเองลง
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ สมศ.ทำ เป็นการรับแนวคิด ทฤษฎีการศึกษามาจากต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมให้ครู โรงเรียน ทำให้เกิดความเสียหาย หาประโยชน์จากการประเมินไม่ได้เพราะเวลาไปประเมินผู้ประเมินก็ไปเหมือนอำมาตย์สนใจแต่การได้รับการดูแลเอาใจใส่ และตรวจสอบเอกสารจากครูที่รีบเร่งเอาเอกสารมาให้ ไม่ได้ดูระบบการเรียนการสอน คุณภาพของโรงเรียนจริงๆ เนื่องจากเอกสารส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเท็จ ไม่ตรงกับความเป็นจริงเมื่อประเมินจากข้อมูลเท็จ ผลการประเมินที่ได้ก็เป็นเท็จ เวลาผู้บริหารงานนำผลการประเมินไปตัดสินใจก็เป็นการรับรู้ข้อมูลเท็จ ทำให้ไม่สามาถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละโรงเรียนได้จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอข้อมูลว่ามีเด็กดร็อปเอาท์ เพียง 52 คน ทั้งที่ในความเป็นจริงมีจำนวนมาก หรือเด็กตั้งครรภ์มี 1,000 กว่า แต่ในความเป็นจริงมีหลายพันคน เป็นต้น การประเมิน สมศ.จึงไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นของคนอื่นและย้อนกลับมาดูตัวเอง ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นและยุติการทำงานของตนเอง ภายใน 2-3 ปีนี้ ซึ่งการประเมิน สมศ.ควรยุติเพียงรอบที่ 3 ส่วนอนาคตอยากให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และชุมชนที่ตั้งโรงเรียนเป็นผู้ประเมินโรงเรียน เพราะถ้าเขาอยากให้ลูกหลานมีคุณภาพ ก็ต้องช่วยพัฒนาโรงเรียนและผลประเมินต้องออกมาตามความเป็นจริง

ที่มาของข่าว : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวง วันที่ 15 มกราคม 2556